โรงเรียนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์
วัดศรีโสดา 17 หมู่ 2  ตำบลสุเทพ  อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200
เบอร์โทรศัพท์ 053-223636
ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน

วัดศรีโสดา  เป็นที่ตั้งสำนักงานบริหารงานโครงการพระธรรมจาริกส่วนภูมิภาค  เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชนถิ่นกันดาร การจัดการศึกษาแต่เดิมดำเนินการ ณ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ พ.. ๒๕๐๘ เป็นต้นมา  ถือกำเนิดจากโครงการพระธรรมจาริก  โดยภายหลังจากการที่เยาวชนชาวเขา ๑๒ คน ขอบรรพชาเป็นสามเณรและศึกษาภาษาไทยที่วัดเบญจมบพิตร  สำหรับเป็นแนวทางการศึกษาพระปริยัติธรรม  ผลจากการรื้อฟื้นภาษาไทยทำให้สามเณรชาวเขา สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี ,โท,เอก  ในเวลาต่อมา วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.. ๒๕๑๓ พระธรรมกิตติโสภณ (สุวรรณ   สุวณฺณโชโต , ป.ธ.๗  ต่อมา คือ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์)  พร้อมด้วยข้าราชการ  กรมประชาสงเคราะห์  ได้ทำบุญทอดกฐินและเปิดป้าย  ศูนย์อบรมพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรชาวเขา  เพื่อเป็นศูนย์ดำเนินงานด้านการศึกษา  เผยแผ่ พระพุทธศาสนาแก่ชาวเขา มีพระครูสิริธรรมจารี  เจ้าอาวาสวัดศรีโสดา รับสนองนโยบายตามวัตถุประสงค์

          พุทธศักราช  ๒๕๑๔ จัดตั้งโรงเรียนผู้ใหญ่(ชาวเขา) วัดศรีโสดา ในขณะนั้น  หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับประถมศึกษา  จัดการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับใช้ประกอบการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม  ต่อมาเปิดสอนชั้นบาลีไวยากรณ์ ถึง ป..๓ ที่วัดช่างเคี่ยน  ใช้ครูสอนจากวัดเบญจมบพิตร ผู้ที่สอบผ่านและต้องการศึกษาชั้นที่สูงขึ้น  ให้ไปศึกษาต่อที่วัดเบญจมบพิตรและวัดปากน้ำ   กรุงเทพฯ   ปรากฏว่าทำให้เยาวชนชาวเขานิยมเข้ามาบวชเรียนจำนวนมาก

พุทธศักราช ๒๕๓๒ เปิดทำการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุญาตจัดตั้ง โรงเรียนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์  วันที่ ๑ ตุลาคม พ.. ๒๕๓๓ จัดการเรียนการสอนหลักสูตรพระปริยัติธรรม  แผนกสามัญศึกษา  ดำเนินการแบบศึกษาสงเคราะห์   ประเภทอยู่ประจำ  สังกัด กองพุทธศาสนศึกษา  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ปีแรกเปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน  ๕๙ รูป  ทำให้เยาวชนชาวเขานิยมเข้ามาบวชเรียนจำนวนมาก  จนต้องขยายและได้รับอนุญาต จัดการเรียนการสอนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ ตามหนังสือที่ ศธ.(ศน.) ๐๔๐๔/๖๑๔๐ โดยมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ รุ่นแรกจำนวน ๗ รูป

โรงเรียนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์  มีลักษณะเฉพาะ คือรับเด็ก เยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาซึ่งเป็นกุลบุตรชาวไทยภูเขา  เช่น  กะเหรี่ยง  แม้ว  เย้า  มูเซอ อีก้อ ลีซอ ถิ่น ขมุ เป็นต้น ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงในพื้นที่ ๑๗ จังหวัดภาคเหนือ  ภาคกลางบางส่วน   ตามโครงการพระธรรมจาริก  สนับสนุนส่งเสริม  เยาวชนชาวเขา ให้มีโอกาสศึกษาพระปริยัติธรรม  ดำเนินการแบบศึกษาสงเคราะห์ ไม่เสียค่าเล่าเรียน มุ่งผลิตนักเรียน ให้มีความรู้  ความสามารถ  คุณธรรมจริยธรรม สมณสัญญา สู่คุณภาพชีวิตที่ดี เป็นศาสนทายาทที่สามารถสืบทอด เผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชนถิ่นกันดารบนพื้นที่สูง  ตามโครงการพระธรรมจาริกได้